จากเด็กน้อยที่กำลังเติบโตอย่างสมบูรณ์ด้วยความรัก ความสนใจ และความใส่ใจของพ่อแม่ วันหนึ่งความเป็นหนึ่งได้เปลี่ยนไป กลายเป็นพี่ตัวน้อยที่มีน้องตัวน้อยกว่า สิ่งหนึ่งที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในครอบครัวคือ “ความอิจฉาน้อง” ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถพบได้บ่อยในเด็กวัยนี้ โดยเด็กบางคนอาจสามารถเก็บความรู้สึกนี้ไว้ข้างใน พอวันเวลาผ่านไปก็จางหาย กลายเป็นความสนิทสนมความรักและเอ็นดูน้อง แต่เด็กบางคนอาจมีความรู้สึกที่รุนแรงกว่านั้น เช่น อิจฉาจนมีการแสดงออกโดยการทุบตีน้อง ชอบแกล้งให้น้องร้องไห้ หรือสะสมความอิจฉาไว้มากพอจนกลายเป็นความเกลียดชังกันเลยก็มี
พ่อ แม่ ผู้ใหญ่ในครอบครัวนี่ล่ะ คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กน้อยที่น่ารักกลายเป็นเด็กขี้อิจฉา เช่น ชอบกล่าวกับเด็กว่า “แม่ไม่รักลูกแล้ว แม่รักน้องดีกว่า" ไม่ว่าจะเป็นเพียงการพูดเล่น ๆ ก็ตาม แต่ความฝังใจได้เกิดขึ้นในหัวใจที่บอบบางของเด็กแล้ว หรือบางครอบครัวติดนิสัยชอบเปรียบเทียบเด็กกับน้องว่า น้องเก่งกว่า น่ารักกว่า หรือการกล่าวชมเชยให้ความสนใจน้องอย่างเกินควรด้วยคำพูดและการกระทำ เรื่องเหล่านี้อาจเป็นเรื่องตลกหรือสนุกสำหรับผู้ใหญ่ที่ชอบแกล้ง หรือเผลอพูดโดยไม่ทันยั้งคิด แต่บอกเลยว่า สิ่งนี้คือสาเหตุสำคัญที่ท่านสร้างนิสัยขี้อิจฉาให้กับเด็กที่เป็นเหมือนผ้าขาวเข้าให้แล้ว
ใครว่าเด็กไม่รู้เรื่อง เด็กไม่มีความรู้สึก ความจริงแล้วหัวใจของเด็กนั้นบอบบางมาก เขารู้สึกกับสิ่งที่มากระทบจิตใจได้ง่ายมาก เพียงแต่เขาแค่ยังสื่อสารความรู้สึกของตัวเองออกมาเป็นคำพูดไม่ได้ ดังนั้นเด็กบางคนที่มีน้องอาจเกิดความรู้สึกน้อยใจว่า พ่อแม่รักน้องมากกว่า รู้สึกว่าตนสูญเสียความรักที่เคยได้รับจากพ่อแม่ และน้องเป็นผู้ทำให้พ่อแม่รักตนน้อยลง ความผิดทั้งหมดจึงไปตกที่ตัวน้อง ทำให้เด็กเริ่มสะสมความอิจฉาไว้ ซึ่งหากพ่อแม่ไม่รับรู้หรือไม่ให้ความใส่ใจ แล้วปล่อยให้ความรู้สึกนี้เกาะติดใจเด็กนานเกินไป นั่นอาจเป็นการปล่อยให้ความอิจฉาเติบโตอยู่ในหัวใจของเด็กนานเกินไป และแน่นอนว่า ย่อมไม่ส่งผลดีต่อความสัมพันธ์ของพี่น้องในครอบครัว
เด็กในวัยนี้ยังต้องการความรัก ความเอาใจใส่อยู่เสมอ เคยได้รับอย่างไรก็ยังอยากได้รับอย่างนั้นตลอดไป เพราะเด็กยังไม่รู้จักแบ่งปัน ยังถือตนเป็นใหญ่อยู่ และยังไม่เข้าใจเหตุผลดีพอเมื่อได้รับการสนใจน้อยลงจากการที่คุณพ่อคุณแม่ต้องไปสนใจน้อง ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ ถือว่าเป็นเรื่องปกติ เป็นธรรมชาติที่เมื่อได้รับการอบรมสั่งสอน การรู้สึกคุ้นเคยสนิทสนมกับน้อง ความรู้สึกเหล่านี้ก็จะค่อย ๆ จางหายไป
บางครอบครัวให้ความสำคัญกับลูกในรูปแบบการตามใจ ไม่ได้เน้นการอบรมสั่งสอนให้เขาได้รู้จักเรียนรู้ความรู้สึกของตัวเอง แต่สปอย ลูกงอนงอแง หรืออิจฉาน้องเมื่อไหร่ พ่อแม่ก็จะเปย์กลับ เอาใจ เพื่อชดเชยความรู้สึกไม่พอใจของลูก จนเด็กคุ้นชินกับการแสดงความไม่พอใจ แล้วได้รับการตอบรับที่ดี ได้รับของเล่น ได้รับการตามใจ ได้รับความสนใจคืนกลับมา เด็กก็จะติดนิสัยขี้อิจฉา ไม่ได้รู้สึกว่าต้องปรับตัว ปรับปรุงนิสัยนี้ และนี้คืออีกสาเหตุที่ทำให้โรคขี้อิจฉาติดตัวเด็กไปจนโต และกลายเป็นคนเอาแต่ใจตัวเอง หรือเป็นคนไม่ยอมใคร
เมื่อเรารู้สาเหตุแล้ว พ่อแม่ผู้ปกครองบางท่านอาจจะรู้สึกไม่สบายใจ วิตกกังวลว่าการมีลูกอีกคน จะกลายเป็นการสร้างปัญหาให้แก่ลูกอีกคน แต่ความจริงแล้ว เรื่องโรคขี้อิจฉาสามารถแก้ไขได้ง่าย ๆ ด้วยการสร้างระบบป้องกัน ดังนี้ค่ะ
1. ก่อนจะมีน้องให้เด็ก ๆ พ่อกับแม่ต้องบอกให้เด็กรู้ล่วงหน้าว่าตัวเองจะมีน้องใหม่ ครอบครัวของเราจะมีสมาชิกใหม่ และคุณแม่ควรให้เด็กคุ้นเคยกับน้องในท้อง สัมผัสจับต้อง พูดคุย ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันตั้งแต่ที่น้องยังไม่คลอดออกมา
2. อธิบายให้เด็กเข้าใจว่า ตนมีส่วนเป็นเจ้าของน้องที่จะเกิดใหม่ และให้ความมั่นใจกับเด็กว่า เขาก็ยังเป็นผู้หนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่รักและภูมิใจอยู่เสมอ ไม่ว่าสมาชิกใหม่จะเกิดมา จะเป็นอย่างไร สมาชิกเก่าทุกคนยังมีความหมาย มีความสำคัญร่วมกันเสมอ
3. หากต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่งภายในบ้าน ควรชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นให้เด็กทราบ เช่น ปรับเปลี่ยนห้องนอนใหม่ให้ลูกที่กำลังจะเกิด ย้ายของบางอย่างที่เคยเป็นของของเด็กออกจากพื้นที่ คุณพ่อคุณแม่ควรชี้แจงทำความเข้าใจ หาวิธีสื่อสารให้เด็กยอมรับและมีส่วนร่วมในความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
4. หาคนดูแลเด็กในช่วงที่ไปคลอดให้เหมาะสม ช่วงสำคัญที่เด็กจะรู้สึกไม่ชอบสมาชิกใหม่เอาซะเลย เพราะทำให้คุณแม่ของเด็กหายไปจากบ้าน เพราะต้องไปคลอดลูกน้อยที่กำลังจะเกิด การหาคนดูแลเด็กในช่วงเวลานี้สำคัญมาก ควรเป็นคนที่เด็กคุ้นเคย อยากใกล้ชิด อยากอยู่ด้วย จะทำให้ช่วงเวลานั้นไม่ไปกระทบกับจิตใจของเด็กมากจนเกินไป
5. เมื่อแม่กลับจากโรงพยาบาลใหม่ ๆ อาจจะให้คนพาเด็กไปเล่นข้างนอก เพื่อไม่ให้เด็กเห็นความชุลมุนวุ่นวายกับการจัดที่ทางให้น้องใหม่และท่าที่คนอื่นๆ ในบ้าน ที่พากันมาสนใจน้องใหม่ จนเด็กรู้สึกว่าเขากลายเป็นส่วนเกิน
6. พยายามให้เด็กมีส่วนร่วมในการดูแลน้อง สอนวิธีเลี้ยงน้อง อุ้มน้อง ช่วยทำกิจกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ในการดูแลน้อง ควรช่วยแนะนำและกระตุ้นให้เด็กรู้ว่าการเป็นพี่นั้นดีอย่างไรและสำคัญอย่างไร เขาจะทำอะไรให้น้องได้บ้าง เพื่อสร้างความรู้สึกภูมิใจในตัวเองให้คุณพี่มือใหม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจ
7. ไม่แสดงความรักและสนใจน้องจนออกนอกหน้าเกินควร โดยมองข้ามความรู้สึกของเด็ก และควรระวังคำพูดหรือจะกระทำใด ๆ ที่ทำให้เด็กเสียกำลังใจหรือเป็นปมด้อย เพื่อไม่ให้เขาสะสมความรู้สึกไม่พอใจ น้อยใจ เสียใจ จนกลายเป็นปมแห่งความขี้อิจฉาที่สามารถขยายปมให้ใหญ่ขึ้นและแน่นขึ้น ซึ่งนั่นจะเป็นการยากต่อการแก้ไขในอนาคต
ลูกน้อยที่กำลังจะลืมตาดูโลก ไม่ได้มีความสำคัญเฉพาะแค่กับคนเป็นพ่อแม่เท่านั้น แต่สำคัญสำหรับความเป็นพี่เป็นน้องด้วย ถ้าพี่น้องรักกัน ไม่อิจฉากัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ถือเป็นการสร้างพื้นฐานครอบครัวให้แข็งแกร่ง เป็นการสร้างกำแพงที่เป็นเหมือนเกราะคุ้มภัยให้กับสมาชิกในครอบครัว ดังนั้นการเรียนรู้วิธีการป้องกันการขี้อิจฉาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในเด็กเล็ก ในยามที่มีสมาชิกใหม่เกิดขึ้น จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่ทุกครอบครัวไม่ควรมองข้าม
Auntie